ในวัฒนธรรมต่าง ๆ ของ นกต้อยตีวิด

บางท้องถิ่นในประเทศอินเดีย[3]และในประเทศไทย[23][32]มีความเชื่อว่า นกนอนหงายเอาตีนชี้ฟ้าเพราะกลัวฟ้าถล่ม ซึ่งไม่เป็นจริง[23] ภาษาฮินดีถึงกับมีคำอุปลักษณ์แปลว่า "นกต้อยตีวิด จะยันท้องฟ้าไว้ได้หรือไม่" หมายถึงบุคคลที่ทำอะไร เกินแรงหรือความสามารถของตน[3]

ในบางพื้นที่ของรัฐราชสถาน เชื่อกันว่า ถ้านกวางไข่ในพื้นที่สูง ปีนั้นฝนจะตกดี[33] มีการใช้ไข่นกในการแพทย์พื้นบ้าน[34][35][36]

ในคัมภีร์พุทธศาสนา

คัมภีร์ชั้นพระไตรปิฎกและอรรถกถาของพระพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงนกต้อยตีวิดในหลายประเด็นรวมทั้ง

  • บุคคลพึงตามรักษาศีลเท่าชีวิต เหมือนกับนกตามรักษาไข่[37]
  • พระพุทธเจ้าทรงตามให้โอวาทกับท่านพระราหุล เหมือนกับนกตามรักษาไข่[38]
  • สัตว์ 4 พวกกลัวสิ่งที่ไม่ควรกลัว เหมือนนกนอนหงายเพราะกลัวฟ้าถล่ม[39]
  • นกถึงมีสีสวย แต่ก็มีวาจาไม่ไพเราะ จึงไม่เป็นที่รักของชนทั้งหลาย[40][41]

มีการกล่าวให้บุคคลตามรักษาศีล เหมือนกับนกต้อยตีวิดตามรักษาไข่ของตน คือ

นกต้อยตีวิดรักษาฟองไข่ฉันใด จามรีรักษาขนหางฉันใด ผู้มีบุตรคนเดียวรักษาบุตรผู้เป็นที่รักฉันใด ผู้มีนัยน์ตาข้างเดียว รักษานัยน์ตาที่ยังเหลืออีกข้างฉันใด ท่านทั้งหลายจงตามรักษาศีลเหมือนฉันนั้นทีเดียว จงเป็นผู้มีศีลเป็นที่รักด้วยดี มีความเคารพ ทุกเมื่อเถิด ดังนี้

— สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย ศีลขันธวรรค พรหมชาลสูตร[37]

มีการกล่าวถึงว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตามรักษาท่านพระราหุล เหมือนกับนกต้อยตีวิตตามรักษาไข่ของตน คือ

พระตถาคตผู้มีพระปัญญาเฉลียวฉลาด ทรงสมบูรณ์ด้วยศีล ทรงรักษาเราเหมือนนกต้อยตีวิดรักษาพืชพันธุ์ เหมือนเนื้อจามรีรักษาขนหางสูงสุดฉะนั้น

— ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ อัมพลัฏฐิกราหุโลวาทสูตร[38]

มีการกล่าวถึงว่า นกต้อยตีวิดนอนหงาย เพราะกลัวฟ้าถล่ม คือ

เหมือนสัตว์ 4 จำพวกเหล่านี้ ย่อมกลัวต่อสิ่งที่ไม่ควรกลัว (ดังมีที่มา) ว่า ข้าแต่มหาราช สัตว์ 4 จำพวกแล ย่อมกลัวต่อสิ่งที่ไม่ควรกลัวแล 4 จำพวกไฉนบ้าง ข้าแต่มหาราช ไส้เดือนแลย่อมไม่กินดิน เพราะกลัวว่า แผ่นดินจะหมด ข้าแต่มหาราช นกกะเรียนย่อมยืนเท้าเดียว (บนแผ่นดิน) เพราะกลัวว่าแผ่นดินจะทรุด ข้าแต่มหาราช นกต้อยตีวิดนอนหงาย เพราะกลัวว่าฟ้าจะถล่ม ข้าแต่มหาราช พราหมณ์ผู้ประพฤติธรรมแล ย่อมไม่ประพฤติพรหมจรรย์ (คือจะมีภรรยา) เพราะกลัวว่าโลกจะขาดสูญ ฉะนั้น

— ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ปัญจัตตยสูตร[39]

มีการยกนกต้อยตีวิดว่า เป็นนกที่สวยแต่มีวาจาไม่ไพเราะในสุชาตาชาดก[41]ในเรื่องนี้อรรถกถาจารย์อธิบายว่า เป็นเรื่องเนื่องกับการสอนนางสุชาดาสะใภ้ของอนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้มีวาจาดุร้าย คือพระพุทธเจ้าก็ได้ทรงสั่งสอนนางสุชาดาในชาติก่อน ๆ มาแล้วเช่นกัน และทรงยกนกดุเหว่าเทียบกับนกต้อยตีวิด ที่มีเสียงไม่น่าฟัง[40] คือทรงยกว่า

ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายที่สมบูรณ์ด้วยวรรณะ

มีเสียงอันไพเราะ น่ารักน่าชม แต่พูดจาหยาบกระด้าง
ย่อมไม่เป็นที่รักของใคร ๆ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

พระองค์ (พระราชชนนีของพระโพธิสัตว์ผู้ในชาติหลังเป็นนางสุชาดา) ทรงทอดพระเนตรแล้วมิใช่หรือ
นกดุเหว่าสีดำตัวนี้มีสีไม่สวย ลายพร้อยไปทั้งตัว
แต่เป็นที่รักของสัตว์ทั้งหลายจำนวนมาก
เพราะร้องด้วยเสียงอันไพเราะ

เพราะฉะนั้นบุคคลควรพูดคำอันสละสลวย
คิดก่อนพูด พูดพอประมาณ ไม่ฟุ้งซ่าน
ถ้อยคำของผู้ที่แสดงเป็นอรรถเป็นธรรม
เป็นถ้อยคำอันไพเราะ เป็นถ้อยคำที่เป็นภาษิต— ขุททกนิกาย ชาดก สุชาตาชาดก[41]

แหล่งที่มา

WikiPedia: นกต้อยตีวิด http://journals.sfu.ca/nepal/index.php/ON/article/... http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=channoi&m... http://www.krepublishers.com/02-Journals/S-EM/EM-0... http://www.mukphotoclub.com/forums/index.php?topic... http://www.lsa.umich.edu/ummz/areas/bird/type.asp?... //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/13912529 http://web.archive.org/web/20150326081039/http://w... http://www.archive.org/details/birdsofindiabein03j... http://www.archive.org/stream/NLBW12#page/n100/mod... http://www.archive.org/stream/NLBW14#page/n73/mode...